“การถมที่ดิน” คือขั้นตอนแรกเริ่มของการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านจัดสรร โรงงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการลงโครงสร้าง เพื่อให้พื้นที่มีความสูงในระดับมาตรฐานที่ดีพอสำหรับการทำขั้นตอนต่อไป แต่การถมที่ดินนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่การนำดินมาเท-ฝัง-กลบเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกตั้งแต่ก่อนทำไปจนถึงหลังถมเสร็จเรียบร้อย โดยคอนเทนต์นี้ Jira Logistics ได้ถือโอกาสมาทำความเข้าใจเข้าใจกับ 4 เรื่องที่ควรรู้ก่อนเริ่มการ “ถมที่ดิน”
ทำไมต้องถมที่ดินก่อนเริ่มก่อสร้าง
การถมที่ดินคือวิธีการพื้นผิวหน้าดินบริเวณก่อสร้างเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต เช่น ดินทรุดตัว, การระบายในภายในพื้นที่, ปรับความสูงที่ดินให้เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งในการถมที่ดินจะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดปัญหาภายหลังดังนี้
- ลักษณะพื้นที่บริเวณนั้น ควรตรวจสอบให้รอบด้านตั้งแต่ความสูง-ต่ำของพื้นเพื่อคำนวณปริมาณของดินที่ใช้ถม, ปัญหาน้ำท่วมใช้เวลาระบายน้ำนานแค่ไหน เพราะน้ำท่วมส่งผลโดยตรงต่อชั้นดินทำให้ดินอ่อนตัวง่าย อาจจะอัดชั้นดินให้แน่นกว่าปกติ
- ระดับความสูง-ต่ำของที่ดิน ควรเทียบกับพื้นถนนหรือบ้านหลังอื่น ๆ ในละแวกนั้นเพื่อคำนึงถึงปัญหาที่จะมาในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมขัง โดยทั่วไปการถมที่ดินควรถมให้สูงกว่าถนนประมาณ 50-100 ซ.ม. เพื่อป้องกันการยุบตัว
- ระยะเวลาที่ดินจะปรับตัว โดยปกติหลังจากถมที่ดินเสร็จไม่ควรเริ่มการก่อสร้างทันที ควรทิ้งระยะเวลาให้ชั้นดินมีการปรับตัวให้คงที่ประมาณ 6-12 เดือน เพราะดินที่ถมใหม่ ๆ มีโอกาสทรุดตัวได้ ทั้งนี้การใช้รถบดอัดดินก็สามารถช่วยร่นระยะเวลาการปรับตัวของดินได้เช่นกัน หรือทำควรคู่กันไประหว่างใช้รถบดอัดกับปล่อยให้ติดปรับตัวตามเวลาได้เช่นกัน
วัตถุดิบที่เหมาะสำหรับถมที่ดิน
ตามปกติของการถมที่ดินมักจะใช้วัตถุดิบในการถมอยู่ 5 อย่าง เพื่อใช้งานความเหมาะสมของพื้นที่และระดับชั้นดินที่ควรใช้ โดยมีวัตถุดิบดังนี้
- ดิน – ใช้ในส่วนที่ต้องการปรับระดับพื้นที่เยอะ หรือกลมหลุมบ่อค่อนข้างเยอะเพื่อลดต้นทุน
- ทรายถม – เช่นเดียวกับดิน ใช้ในส่วนที่ต้องการปรับระดับเยอะ หรือหลุมบ่อค่อนข้างเยอะเพื่อลดต้นทุน แต่งานจะออกมาดีกว่าการใช้ดินถม
- ทรายหยาบ – เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการปรับสภาพพื้นผิวชั้นบนสุด
- ลูกรัง – ใช้งานคล้ายกับดินถม เพื่อปรับระดับชั้นสูงต่ำ
- หินคลุก – ใช้ส่วนสุดท้ายในการบดอัดพื้นผิวที่ดินให้มีความแน่น
ข้อกฎหมายที่ควรรู้ในการถมที่ดิน
ข้อกฎหมายหลัก ๆ เกี่ยวกับการถมที่ดินจะถูกแบ่ง 2 ฝ่ายคือ “ผู้ขุดดิน” กับ “ผู้ถมดิน” ซึ่งทีมงานขุดดินจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตขุดดินและถมดินต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น (ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล) ตามแบบที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 39 โดยผู้ขุดห้ามนำไปจำหน่ายโดยไม่มีการได้รับอนุญาตแต่ถ้านำไปใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ของเจ้าของที่ดินเองสามารถนำไปใช้ได้
ฝ่ายผู้ถมดิน ตามกฎหมายถมที่ดินมาตรา 26 ผู้ใดประสงค์จะทําการถมดินโดยมีความสูงของเนินดินเกินกว่าระดับที่ดินต่างเจ้าของที่อยู่ข้างเคียง และมีพื้นที่ของเนินดินไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรือมีพื้นที่ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกําหนด ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่เจ้าของที่ดินที่อยู่ข้างเคียงหรือบุคคลอื่น
วิธีการคำนวณราคาถมที่ดินที่ควรจะเป็น
การคำนวณราคาถมที่ดิน เบื้องต้นเจ้าของที่ดินจะต้องรู้ว่าพื้นที่มีกี่ตารางเมตร และควรถมดินที่ความหนากี่เซนติเมตร เช่น พื้นที่ 500 ตารางเมตร ปูหนา 30 เซนติเมตร นำ 500 (ตารางเมตร) x 0.3 (ความหนา) จะได้เท่ากับ 150 คิว (ปริมาณดินถมที่ต้องการใช้) จากนั้นถ้าต้องการคิดจำนวนคิวเป็นตัน ให้นำ 150 x 1.5 จะได้เท่ากับ 225 ตัน หรือเทียบกับรถบรรทุกเทรลเลอร์ดั๊มประมาณ 7-8 พ่วง ส่วนราคาจะขึ้นอยู่กับระยะทางและวัตถุดิบแต่ละแหล่ง
เมื่อได้ปริมาณดินที่แน่นอนแล้ว ให้นำไปเปรียบเทียบราคากับผู้รับเหมาที่กำหนดมาให้ เพื่อคำนวณราคาที่เหมาะสมในการถมที่ดินครั้งนี้ ส่วนมากผู้รับเหมาจะคิดราคาเป็นคิว หรือไม่ก็ราคาต่อ 1 คันรถ ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้จะมีความคุ้มค่าที่ไม่เท่ากัน
สรุปถึงสิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มถมที่ดิน
ในการถมที่ดินแต่ละครั้ง ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายเรื่องด้วยกันตามที่กล่าวไปข้างต้นทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของที่ดินจำเป็นต้องรู้เอาไว้ เพื่อให้การปรับปรุงที่ดินเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น ทั้งในเรื่องของจุดประสงค์ในการก่อสร้าง เพื่อกำหนดวิธีการถมที่ดินที่เหมาะสมที่สุด รวมไปถึงข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องเพราะถ้าหากเรื่องนี้มีปัญหาก็ไม่สามารถทำขั้นตอนต่อไปได้เลย ดังนั้นควรศึกษาเรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี และสุดท้ายคือเรื่องของการคำนวณราคา ต้องตามให้ทันผู้รับเหมาเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมไม่ถูกกดราคาจนเกินไป ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าการถมที่ดินมีอะไรมากกว่าหลายคนคิดไว้